วารสาร HRintelligence ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2551

  การวิเคราะห์ผลตอบแทนของการลงทุนของกองทุนประกันชราภาพในประเทศไทยและการประเมินผลกระทบที่เกี่ยวข้อง
  สมชาย สุขสิริเสรีกุล

บทคัดย่อ
          การศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อประเมินอัตราผลตอบแทนของการลงทุนของกองทุนเงินบำนาญ และวิเคราะห์ผลกระทบของกองทุนประกันชราภาพที่มีต่อการออมเงินและการตัดสินใจทำงานของผู้จ่ายเงินสมทบ
          ผลการคำนวณด้วยข้อมูลของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่รวบรวมโดยสำนักนโยบายการออมและการลงทุนพบว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสร้างผลตอบแทนสูงกว่าผลตอบแทนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้กลยุทธ์ในการลงทุนสินทรัพย์ที่แตกต่างกันของกองทุนสองประเภท
          การประเมินผลกระทบของกองทุนประกันชราภาพแสดงให้เห็นว่า เงินบำนาญในอนาคตของแรงงานมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับการออมเงินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นแรงจูงใจให้มีการออมเงินที่เพิ่มขึ้น การประเมินผลกระทบของกองทุนเงินบำนาญที่มีต่อการตัดสินใจเกษียณอายุการทำงานพบว่าขนาดของเงินบำนาญที่แรงงานสะสมเป็นแรงจูงใจให้แรงงานทำงานต่อไปหรือทำงานเพิ่มขึ้น จำนวนเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสมาชิกหนึ่งคนที่สูงขึ้นส่งผลให้อุปทานของแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ดัชนีผลิตภาพของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นลดอุปสงค์ต่อแรงงาน