วารสาร HRintelligence ปีที่ 2 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2550

  การประมวลองค์ความรู้และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบ
  สมบุญ ยมนา

บทคัดย่อ
          บทความนี้มาจากงานวิจัยเรื่อง โครงการการประมวลองค์ความรู้และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบซึ่งได้รวบรวมผลงานของนักวิจัยและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิ สำนักวิจัย และข้อมูลเอกสารของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดข้อมูลที่มีอยู่ให้เป็นระบบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย บริหารจัดการและดำเนินการให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การศึกษาแบ่งกลุ่มแรงงานนอกระบบเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานนอกระบบภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคบริการ โดยศึกษาข้อมูลที่มีอยู่ย้อนหลังระหว่าง พ.ศ. 2535-2549 ขอบเขตของงานวิจัยครอบคลุมลักษณะทางประชากร สังคมและเศรษฐกิจ สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการที่ได้รับ ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบ ตลอดจนการจำแนกประกันข้อเสนอแนะของเจ้าของงานวิจัยและที่ได้จากเอกสารเผยแพร่ และนำมาวิเคราะห์พร้อมจัดทำเป็นข้อเสนอแนะ
          ผลการศึกษาพบว่า
          1. งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแรงงานนอกระบระหว่าง พ.ศ. 2535-2549 ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับสภาพและปัญหาในการทำงาน ประเด็นที่ศึกษามีความหลากหลายมากขึ้นในช่วงแผนฯ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) ซึ่งศึกษาสภาพความเป็นอยู่ การจ้างงาน รายได้รายจ่าย หนี้สิน ปัญหาและความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น ต่อมาในช่วงแผนฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ให้ความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอิสระที่มีบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐในด้านกรประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ รวมทั้งมีการสนับสนุนงานประมวลองค์ความรู้ในภาพรวม ตลอดจนการนำเสนอการศึกษาวิจัยมาเผยแพร่ทำให้เกิดกระแสสังคมในด้านสิทธิแรงงานและการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่แรงงานนอกระบบและในปี 2548 สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจข้อมูลแรงงานนอกระบบเป็นครั้งแรก
          2. งานวิจัยได้สะท้อนปัญหาและความต้องการของแรงงานนอกระบบ หากแต่อาจไม่ครอบคลุมทุกประเภทแรงงานและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งตัวอย่างที่ศึกษาไม่มากนัก การศึกษาในภาคการผลิตยังจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ขาดการศึกษาแรงงานที่อพยพจากชนบทของจังหวัดเข้ามาในเขตเมือง ส่วนภาคการเกษตรข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกรพันธะสัญญาและเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินของตนเองยังมีค่อนข้างน้อย ประเด็นหลักของงานศึกษาคล้ายคลึงกันในเรื่องสภาพการทำงาน ความเป็นอยู่ รายได้รายจ่าย หนี้สินซึ่งเป็นปัญหาเชิงเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่
          เนื้อหาที่นำเสนอในบทความนี้ เน้นเฉพาะองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับตัวผู้ใช้แรงงานในเรื่องของสถานภาพทางสังคม การศึกษา ลักษณะครอบครัวและลักษณะทางเศรษฐกิจ ในส่วนของความเคลื่อนไหวของแรงงานนอกระบบไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิ การคุ้มครองทางสังคมตลอดจนทางด้านคุณภาพชีวิต สามารถศึกษาจากรายงานฉบับสมบูรณ์ได้